ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน … วิ่งหนี หรือ วิ่งไล่
การเปิดเสรีทางการค้าที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขององค์กร
การเชิญโลกทั้งใบให้เข้ามาแข่งขันกับอุตสาหกรรมในประเทศ น่าจะเป็นเหตุการณ์พลิกชีวิตที่อาจจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ แต่ก็คงต้องพบกับความท้าทายจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และนั่นก็เป็นเส้นทางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community หรือ AEC) และอีกกลุ่มคือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-pacific Partnership หรือ TPP) ที่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
ความร่วมมือเหล่านี้มึขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการรวมตัวกันของภาคเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม การที่ธุรกิจใดจะรุ่งหรือร่วง ย่อมจะขึ้นอยู่กับพลังขององค์กร และฝ่ายบริหารขององค์กรนั้นๆ
คงมีหลายบริษัท ที่ยังทำธุรกิจด้วยการสร้างรายได้ ผลักดันแผนกลยุทธ์ และดำเนินงานไปตามแนวทางมาตรฐาน แม้จะยังมีต้นทุนส่วนเกินและขาดประสิทธิภาพอยู่บ้าง แต่ก็ยังได้ผลในแง่ของการสร้างรายได้ และมูลค่าของผู้ถือหุ้น ในบริบทเช่นนี้ แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ที่อาจจะมีขนาดธุรกิจไม่ใหญ่ถึงขั้นที่จะเป็นผู้ประกอบการระดับภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทระดับโลก แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังมีความได้เปรียบจากประสบการณ์ในพื้นที่ของตนเอง
จากข้อมูลของ Financial Insights ธนาคารขนาดใหญ่ของไทย จัดเป็นเพียงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระดับภูมิภาค คือมีสินทรัพย์ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในตลาดปิดเช่นปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้ก็ถือว่าพอจะรับมือได้ แต่เมื่อตลาดเปิดเสรี ใครก็ตามที่เข้าสู่ตลาดได้ ทำตามกฎกติกาได้ ก็เป็นคู่แข่งได้ทั้งสิ้น
กลยุทธ์สำคัญ ที่ธุรกิจระดับภูมิภาคจำเป็นจะต้องมี ได้แก่
- ตัดสินใจว่าจะทำตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือจะเป็นผู้นำทั้งตลาด จะทำธุรกิจระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาค และธุรกิจนั้นอยู่ในขั้นกำลังเติบโต หรือถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความมีประสิทธิผล มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือเรียกว่า วัฒนธรรม “Lean Startup”
- สร้างนวัตกรรม โดยการพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อขยายรูปแบบของธุรกิจ มากกว่าการซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูป
ทั้ง GE และ Accenture ต่างก็มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ลงไปจนถึงหน่วยย่อยในองค์กร อาจจะอยู่ใน DNA เลยก็ว่าได้ สภาพเช่นนี้ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงในแต่ละหน่วยย่อยๆ นั้น ทำได้เร็วกว่าสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งสององค์กรจึงมีความสามารถที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาด และสภาพแวดล้อมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ บางคนอาจจะสังเกตว่ารูปแบบของธุรกิจ หรือสินค้าและบริการที่บริษัทเหล่านี้นำเสนอให้ลูกค้า มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ GE ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายทางการเงินลงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ Accenture ก็ได้แปรรูปธุรกิจส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามกระแสของอุตสาหกรรม
การเปิดตลาดอย่างรวดเร็ว จะเร่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างมากมาย ซึ่งนั่นก็จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่สูงขึ้น และแน่นอนความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในขณะที่คลื่นเทคโนโลยีลูกใหม่กำลังถาโถมเข้ามา การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ย่อมจะทำให้เกิดสงครามในธุรกิจ
ทางเลือกของรูปแบบธุรกิจ ได้แก่:
- รักษาตลาดของตัวเองเอาไว้ ด้วยการพัฒนาคุณภาพการบริการ และสร้างนวัตกรรมให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- ภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization) คือ นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วมาปรับแนวทางการดำเนินงาน เพื่อขยายเข้าสู่ตลาดภูมิภาค
ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งสองทางนี้ต่างก็ต้องมีการปฏิรูปธุรกิจในส่วนสำคัญๆ ทั้งสิ้น
จากประสบการณ์ทำงานในภูมิภาคเอเชียกว่า 20 ปี ผมมีข้อสังเกตว่า การเพิ่มผลิตภาพด้วยการปรับปรุงกลไกภายในองค์กรจะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะมักจะเกี่ยวพันไปถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรด้วย
มีคนเคยถาม แจ็ค เวลช์ ว่าการพัฒนาผลิตภาพไม่มีวันสิ้นสุดหรือ ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขายังไม่เคยรู้สึกว่าเข้าใกล้จุดนั้นเลย และนั่นก็เป็นผลให้ GE ได้ครองแชมป์ “นวัตกรรม แบบก้าวกระโดด” ซึ่งอาจจะมาจากการนำเทคโนโลยีมาช่วย หรืออาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงขั้นตอน วิธีการ เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงองค์กร และนั่นก็น่าจะกล่าวได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ได้กลืนกินองค์กรแบบดั้งเดิม การพัฒนาผลิตภาพต่อไปอีก ก็เป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม
ถึงตอนนี้อาจจะมีบางคนคิดว่า คุณก็จ้างที่ปรึกษามาสักคนสองคน ซื้อเทคโนโลยีจาก Vendor แบบเดิมๆ งานก็เสร็จแล้ว วิธีคิดแบบนี้ก็ให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเบี่ยงเบนองค์กรไปจากเดิมเลย
แม้แต่รูปแบบของธุรกิจที่ปรึกษาเอง ก็กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน (เช่น การเปลี่ยนแปลงในผลประโยชน์) และคนเหล่านี้ส่วนมากก็เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นสมัครงานที่เดียวกับคุณ แล้วถ้าถามกันตรงๆ ว่ามีใครเคยทำเรื่อง Regionalization และการปฏิรูปองค์กรมาก่อนหรือไม่ คำตอบก็คือ มีไม่กี่คนหรอก
ในขณะเดียวกัน รูปแบบธุรกิจของ Vendor เอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน บางแห่งก็มีบริการเพิ่มเติมในด้านที่ปรึกษาวิชาชีพ ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์กรของตนยังอยู่ได้ ภายใต้โยงใยของธุรกิจเกิดใหม่ และผู้ให้บริการ Cloud
มีหลายๆ องค์กรที่คิดทำโครงการปฏิรูปขนานใหญ่ มีงบให้นับร้อยล้านบาท เพื่อที่จะสร้างรูปแบบของ “การดำเนินงานเป้าหมาย” และแนวทางการปฏิบัติ นี่ก็เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของผู้ประกอบการรายใหญ่
โดยทั่วไป ก็ต้องมีศูนย์บัญชาการทำหน้าที่บริหารโครงการ แล้วก็มีแผนงานของโครงการ ว่าด้วยเรื่องการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ทำกระบวนการให้เป็นระบบดิจิตอล หาซอฟท์แวร์ใหม่ เพิ่มขนาดเครื่องอะไรก็ว่ากันไป รายใหญ่ก็คิดกันแบบนี้ แต่ถ้ามองในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก คุณเป็นรายใหญ่จริงหรือ มันจะไม่กลายเป็นการดึงเอาความสนใจของทั้งฝ่ายจัดการ และพนักงาน และยังสิ้นเปลืองเงินทุนหรือ
GE เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีผู้บริหารที่มีความสามารถอยู่จำนวนมาก และยังมีสายป่านยาวพอที่จะอยู่ได้อีกนานกว่าเงินจะหมด มูลค่าตลาดของ GE สูงกว่ามูลค่าตลาดของ Adidas และ Pepsico รวมกัน แล้วเขายังไม่ต้องทำโครงการแบบที่ว่าด้วย ยิ่งไปกว่านั้น GE ยังมีความคิดริเริ่มอีกเป็นพันๆ ชิ้น มีแผนงานที่วางไว้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน และพร้อมที่จะแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา
ประเด็นมันอยู่ที่ว่า พนักงานตัวเล็กๆ มักจะถูกมองข้ามความสำคัญต่อแผนงานโดยรวม ส่วนแผนงานใหญ่ๆ ก็มีฝ่ายจัดการ มีการประชุมมากมาย แต่ก็ได้ผลช้าหรือบางทีก็ได้ผลน้อย แล้วยังมีฝ่ายจัดการที่คิดว่า “ส่งงานไปแล้ว ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงแล้ว” ซึ่งนั่นก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน
นี่เป็นสิ่งที่ เจฟฟ์ เบซอส CEO ของ Amazon.com รู้สึกว่าได้รับการปกป้องเมื่อเขาคิดจากมุมของผู้ทำธุรกิจค้าปลีก คนที่ขายทีละน้อยๆ และได้กำไรทีละน้อยๆ นั่นล่ะครับ
ผมไม่เคยเห็นการปฏิรูปองค์กรที่ต้องใช้เวลานานหลายปี แล้วจะได้ผลสำเร็จในทุกมิติ ผมจึงสรุปเอาว่ามันเป็นไปไม่ได้! แต่ผมเคยเห็นความคิดริเริ่มเล็กๆ แบบไม่ค่อยมีเงิน แต่มีคนฉลาดๆ ที่มักจะทำอะไรเกินคาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้จริงๆ การแบ่งความคิดริเริ่มออกเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นชิ้นงาน “จนๆ” ที่มีขนาดพอจะจัดการได้มักจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่า
เจฟฟ์ เบซอส มีหลักการอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกก็คือ แต่ละทีมไม่ควรจะใหญ่เกินจะเลี้ยงด้วยพิซซ่า 2 ถาด และข้อต่อมาคือ “การทำกำไรน้อยๆ ในธุรกิจค้าปลีก” เป็นพรแบบกลายๆ เพราะมันทำให้เขาและธุรกิจของเขายึดมั่นในคุณค่าของทุกการใช้จ่าย และคุณค่าของลูกค้า วิธีคิดแบบนี้เองที่สร้างร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดให้กลายเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่สุดในวงการ Cloud ที่สามารถท้าทายได้แม้กระทั่ง IBM
จากประสบการณ์ตรงของผม สิ่งดีๆ มักจะสำเร็จได้โดยคนเก่งๆ และคนเก่งๆ มักจะปั้นโดยผู้นำที่เก่งๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีผู้นำที่เก่งกว่าสร้างขึ้นมาอีกที ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในบริษัทหรือองค์กร หรืออาจจะอยู่ในกลุ่ม Vendor (แม้ว่าปกติแล้วเขาจะไม่ค่อยแบ่งคนดีๆ หรือนายดีๆ กับลูกค้าก็ตาม) ความสามารถหรือทักษะมาตรฐาน ที่ไม่มีบุคคลากรเก่งๆ หรือผู้นำที่เยี่ยมยอด ก็จะสร้างได้เพียงผลงานตามมาตรฐาน หลายๆ คนก็รู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครสนใจจะทำอะไร
ผมไม่ได้หมายความว่าต้องจ้างคนใหม่ หรือต้องไล่คนออก แต่มันหมายถึงการที่เราต้องเอาคนมารวมกันอย่างพอเหมาะ และสร้างวัฒนธรรมของการดูแลและพัฒนาบุคคลากร แล้วพาเขาออกไปผจญภัย
แผนการปฏิรูปองค์กร เป็นอย่างไร?
ถ้าแผนงานราคาหลายพันล้านบาทยังไม่ได้ผล ในขณะที่เรายังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันเวลา แล้วเราจะทำอย่างไร
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงแผนการปฏิรูปองค์กรที่ผมเคยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพื่อนพนักงานอีกนับพัน ก็จะเห็นกรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือ จะมีคนเก่งๆ อยู่ราวหยิบมือหนึ่ง และมีผู้นำเก่งๆ อีกซักคนหนึ่ง ที่จะต้องระหกระเหินและแบกรับภาระไปตลอดทั้งแผนงาน พอถึงตอนจบ ก็จะเหลือคนที่เป็นตัวหลักอยู่ 5 -10 คน ที่จะคอยผลักดันการเปลี่ยนแปลงและนำโครงการนั้นไปสู่ความสำเร็จ หรือไม่ก็ล้มเหลว
นี่เป็นเรื่องจริงและผมอยากให้ทุกท่านทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมของตนเอง ว่าการปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงในบริบทของท่านเป็นไปอย่างไร
เรื่องสำคัญก็คือ เราควรจะเห็นว่า คนหลักๆ 5 -10 คนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูง ทักษะหรือวัยวุฒิที่ต้องการในการปฏิรูปองค์กรขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเนื้อหาของแต่ละเรื่อง แต่โดยทั่วไป คนเหล่านี้ก็มักจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ ทำงานแบบคลุกวงใน และต้องมีผู้นำที่มีประสบการณ์ แล้วก็มีวิสัยทัศน์พอสมควร ลองคุยกับคนแบบนี้ดูนะครับ คุณจะรู้สึกได้ว่า เขาเข้าใจประหนึ่งสิ่งนั้นมาปรากฎอยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว
การรวมคนเหล่านี้เข้าด้วยกันนี่เอง เป็นสิ่งที่ต้องจัดการอย่างรอบคอบ งานที่เหลือก็สบายๆ แล้วล่ะครับ ผมเคยเห็นบริษัทที่ดิ้นรนอยู่พักใหญ่กว่าจะรวมทีมเข้าด้วยกันได้ เขาเปลี่ยนลูกน้อง เปลี่ยน Vendor เปลี่ยนที่ปรึกษา เปลี่ยนกรรมการ แล้วในที่สุด ก็มีใครคนหนึ่งเข้ามาพร้อมกับวิสัยทัศน์ สร้างทีม แล้วก็ประสบความสำเร็จ
ขั้นตอนต่อไป ก็คือการทำแผนที่การเดินทางสู่การปฏิรูปองค์กร มันมีจุดเริ่มต้นแต่ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด เรื่องแบบนี้เป็นเรื่อง “ปกติธุรกิจ” หาช่องโหว่ เปลี่ยนแปลง ริเริ่ม แล้วก็เปลี่ยนแปลงวนเวียนไปอย่างนี้
ขั้นตอนการปฏิรูปองค์กร:
- รวมทีมงานหลัก มีผู้นำและลูกทีมที่มีประสบการณ์และไว้ใจได้ ราวๆ 5-10 คน
- ระบุขอบเขตของกลยุทธ์ทั้งองค์กร และมอบหมายอำนาจหน้าที่
- ดำเนินการตามหัวเรื่องที่กำหนด โดยทำให้เป็นงานที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน ซึ่งอาจจะรวมถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรในบางส่วนงาน หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงส่วนงานนั้น
- แบ่งการดำเนินงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ แต่ละขั้นอาจจะมีโอกาสพลาดได้เร็ว แต่เราก็จะมีโอกาสแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไปด้วย
- ระบุตัวชี้วัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วน ซึ่งจะทำให้ทุกๆ คนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความสำเร็จ เช่นการให้โบนัสตามผลิตภาพที่ดีขึ้น หรืออาจจะให้โดยดูจากความคิดริเริ่ม เป็นต้น
- …กลับไปเริ่มต้นใหม่
ปัจจัยที่ควรพิจารณาประกอบ
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ต้องทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรัดกุมและคล่องตัว ก่อนที่จะใช้ระบบดิจิตอลเข้ามาช่วย
- พยายามผลักดันวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมในการดำเนินงาน
- พยายามเก็บข้อมูล และให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ตัดสินใจโดยดูจากข้อมูล ไม่อ้างแต่นโยบาย
ยังมีต่อ…
You must log in to post a comment.